Cryptocurrency คืออะไร

Cryptocurrency คืออะไร
Cryptocurrency คืออะไร

คริปโทเคอร์เรนซี หรือ cryptocurrency คือสกุลเงินดิจิทัล

สกุลเงินดิจิทัลตรงข้ามกับเงินหรือสินทรัพย์ที่เราสามารถจับต้องได้ อาจเป็นคำที่คุ้นหูกันดี เพราะเป็นตัวเลือกในการลงทุนที่กำลังเป็นที่นิยม

คริปโทเคอร์เรนซี หรือเรียกสั้น ๆ ว่า คริปโท/คริปโต เป็นเงินเสมือนที่มีระบบความปลอดภัยสูง ปลอดภัยจากการถูกขโมยและจากการปลอมแปลง เพราะใช้การเข้ารหัสข้อมูล

โดยคริปโตจะถูกโอนระหว่างผู้ที่ใช้กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล หรือที่นิยมเรียกกันว่ากระเป๋าคริปโต (Crypto Wallet) ที่มีรหัสสาธารณะ และรหัสส่วนตัว เพื่อใช้ในการทำธุรกรรม และทุก ๆ ธุรกรรมจะบันทึกไว้บนบล็อคเชน (Blockchain) โดยเครือข่ายกระจายโหนด เพื่อความโปร่งใส

มูลค่าของคริปโต ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการควบคุมของธนาคารใดธนาคารหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะเป็นไปตามอุปสงค์อุปทานของตลาด และเหรียญคริปโตที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ตามมูลค่าตลาดนี้ ได้แก่ บิทคอยน์ (Bitcoin) ทั้งนี้ มูลค่าของเหรียญมักไปในทิศทางเดียวกับโลหะมีค่าอย่างทองคำและเงิน

สกุลเงินดิจิทัล คืออะไร

สกุลเงินดิจิทัล หมายถึง เงินที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น ไม่ได้ออกโดยรัฐบาลใด ๆ ไม่สามารถจับต้องได้ เป็นอิสระจากทุกหน่วยงาน ทำเดินการโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าเทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) แบบกระจายอำนาจ เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมอย่างปลอดภัย

สกุลเงินดิจิทัล คืออะไร

Gavin Andresen หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของบิทคอยน์ เคยกล่าวว่า เหรียญคริปโตถูกออกแบบมาเพื่อเอา “สกุลเงินที่กระจายอำนาจของประชาชน” กลับมา พูดง่าย ๆ คือ ธนาคารที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะคริปโตเคอร์เรนซีทำให้อำนาจกลับมาอยู่ในมือเพราะบิทคอยน์อาศัยการเข้ารหัสข้อมูลในการทำธุรกรรมทุกครั้ง และผู้ถือเหรียญทุกคนจะมีรหัสสาธารณะและรหัสส่วนตัวเป็นของตัวเอง

ในการทำธุรกรรม ผู้ถือเหรียญคริปโตจะอยู่ในสถานะบุคคลลึกลับ ไม่มีการเปิดเผยตัวตน ไม่สามารถติดตามได้ ซึ่งถือเป็นข้อดีสำหรับนักลงทุนคริปโต อย่างไรก็ตาม การที่ไม่มีส่วนกลางและผู้รับผิดชอบเช่นเดียวกับธนาคาร ประกอบกับไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ต่างคนต่างดูแลรับผิดชอบกระเป๋าคริปโตของตัวเอง ทำให้เกิดช่องโหว่ในการทำธุรกิจสีเทาได้ เช่น การค้ายาเสพติด การสนับสนุนเงินแก่ผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

ประวัติของคริปโต

จริง ๆ แล้ว ก่อนที่จะมีคริปโตชื่อดังตัวแรกอย่างบิทคอยน์ คอนเซ็ปต์ของเหรียญคริปโตเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัย 80s – 90s โดย David Chaum ผู้ซึ่งต้องการเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรม เขาจึงพัฒนาเงินดิจิทัลขึ้น พร้อม ๆ กับการเข้ารหัสลับ

อย่างไรก็ตาม คริปโทเคอร์เรนซีเพิ่งจะเป็นที่นิยมหลังจากปี 2009 ที่มีการเปิดตัวบิทคอยน์ (Bitcoin หรือ BTC) ขึ้น โดยผู้ก่อตั้งบิทคอยน์ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto และไม่มีใครรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา

ทั้งนี้ เขาระบุไว้ในไวท์เปเปอร์ (Whitepaper) ชื่อ “Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System” ว่าบิทคอยน์เป็นระบบนิเวศเพื่อการชำระเงิน ที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคารหรือรัฐบาล ในการดำเนินการ

Bitcoin มีการนำเอาเทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้เพื่อความปลอดภัยและโปร่งใสมากขึ้น เพราะบล็อคเชนจะกระจายอำนาจผ่านเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะบันทึกธุรกรรมทั้งหมดบนเครือข่ายแบบที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้

หลังบิทคอยน์ประสบความสำเร็จ ก็มีเหรียญคริปโตอื่น ๆ ปรากฏตามกันมามากมาย โดยเราจะเรียกเหรียญทางเลือกเหล่านั้นว่า “Altcoin” (ย่อมาจากคำว่า Alternative Coin)

ตัวอย่าง Altcoin เช่น Litecoin ที่ทำให้ธุรกรรมดำเนินการได้เร็วขึ้น และมีการเปิดตัวอัลกอรึธึมการขุดเหรียญคริปโตนอกจาก BTC ก่อตั้งโดยอดีตวิศวกรของ Google ชื่อ Charlie Lee ในปี 2011

ส่วน Ethereum ที่เปิดตัวในปี 2015 โดย Vitalik Buterin ก็นำเอาสัญญาอัจริยะมาใช้ เพื่อการสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายอำนาจ (dApp) บนบล็อคเชน

ตลาดคริปโตเติบโตอย่างมาก แต่ก็มาพร้อมความผันผวนเช่นกัน โดยขาขั้นของตลาดที่เราเห็นได้ชัดคือปี 2017 ที่มูลค่าของ BTC อยู่ที่เกือบ 20,000 ดอลล่าร์ฯ และมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 69,000 ดอลล่าร์ฯในปี 2021ในขณะที่แนวโน้มของเหรียญอื่น ๆ หรือ Altcoin ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ BTC

หลังจากนั้น การปิดตัวของกระดานเทรดหลัก ๆ ทำให้บิทคอยน์ราคาตกลงมา อยู่ที่ต่ำกว่า 16,000 ดอลล่าร์ฯเมื่อปลายปี 2022 ทำเอาผู้ถือเหรียญดังกล่าวเครียดไปตาม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ความผันผวนไม่เคยสิ้นสุดสำหรับตลาดนี้ เพราะมูลค่าสูงสุดตลอดกาลของ BTC เพิ่งปรากฏให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ในเดือนมีนาคม 2024 อยู่ที่ 73,000 ดอลล่าร์ฯ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก CoinMarketCap

ระบบนิเวศของคริปโตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดพัฒนา มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเสมอ และนวัตกรรมเหล่านั้นก็ทำให้คนหันมาลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น มียูทิลิตี้เพิ่มขึ้น และเป็นมากกว่าแค่เงินในรูปแบบดิจิทัลในที่สุด ตัวอย่างนวัตกรรมที่ทำให้วงการคริปโตก้าวไปอีกขั้น เช่น การทำงานร่วมกันของบล็อคเชน, การเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi), โทเค็นที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ที่เรียกว่า NFT เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ ตลาดคริปโตมีสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดกว่าพลายพันรายการแล้ว และแต่ละสินทรัพย์ก็มีฟีเจอร์ กรณีการใช้งาน และชุมชนเป็นของตัวเอง แม้ไม่ใช่ทุกตัวจะคงอยู่ในสมรภูมินี้ได้ แต่การเพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัล แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศคริปโตมีการใช้งาน การทดลอง และการพัฒนาอยู่เสมอ

การทำงานของเหรียญคริปโต

การทำงานของคริปโตเคอร์เรนซี เป็นการทำงานร่วมกันของบล็อคเชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ประกอบกับ ความปลอดภัยของการเข้ารหัส การกระจายอำนาจ และกลไกฉันทามติ โดยเราจะมาเจาะลึกข้อมูลของกลไกเหล่านี้กัน

การทำงานของเหรียญคริปโต

บล็อคเชน

เทคโนโลยีบล็อคเชน หรือ Blockchain เป็นเสมือนหัวใจสำคัญของเหรียญคริปโต เป็นบันทึกสาธารณะของธุรกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายคริปโต เป็นฐานข้อมูลแบบกระจายอำนาจ

คำว่า ‘บล็อค’ หมายถึง ธุรกรรมต่าง ๆ ที่ถูกจัดเป็นบล็อค เป็นคลังข้อมูลจำนวนมหาศาล แต่ละบล็อคถูกเชื่อมโยงถึงกันในลักษณะเหมือนโซ่ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘เชน’

ในแต่ละบล็อคจะมีชุดธุรกรรม มีแฮชการเข้ารหัสของบล็อคก่อนหน้า และมี Timestamp ทำให้แต่ละบล็อคเกิดการเชื่อมโยงแบบเข้ารหัสกับธุรกรรมก่อนหน้า พร้อม ๆ กับบันทึกที่ป้องกันการเปลี่ยนแปลงหรือปลอมแปลงใด ๆ ทำให้เกิดความโปร่งใสและความปลอดภัย

บล็อคเชนจะถูกเก็บรักษาและอัปเดตโดยคอมพิวเตอร์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งเราจะเรียกคอมพิวเตอร์เหล่านี้ว่า ‘โหนด’ (nodes) ต่างจากเงินรูปแบบเดิม ๆ ที่ถูกควบคุมโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

เทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูล

ในการทำธุรกรรม ความปลอดภัยเป็นอีกสิ่งที่จำเป็นที่สุด และความปลอดภัยนี้มาจากเทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูล ซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยของการทำธุรกรรม รวมถึงควบคุมการสร้างหน่วยคริปโตใหม่ ๆ

ในการทำงานของเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้ จะมีการใช้สิ่งที่เรียกว่า Key ด้วยกัน 2 คีย์ คือ ‘คีย์สาธารณะ’ และ ‘คีย์ส่วนตัว’

โดยคีย์สาธารณะจะใช้เป็นที่อยู่ของกระเป๋าสตางค์คริปโต (Crypto Wallet) เพื่อรับเงิน และช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างคู่คีย์ได้ กล่าวคือ คีย์สาธารณะใช้สำหรับการ ‘เข้ารหัส’ และรู้กันทั่วไป

ในขณะที่คีย์ส่วนตัวจะใช้ในการอนุมัติธุรกรรมเวลาโอนเงิน ใช้สำหรับการ ‘ถอดรหัส’ และมีเพียงเจ้าของเท่านั้นที่รู้

การกระจายอำนาจและความปลอดภัย

เมื่อมีการทำธุรกรรม ธุรกรรมนั้นจะถูกส่งไปที่เครือข่ายบล็อคเชน และโหนดหรือคอมพิวเตอร์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก จะทำการตรวจสอบธุรกรรมด้วยกระบวนการ ‘ฉันทามติ’ และ ‘การขุดเหรียญ’ หรือ Proof of Work (PoW) และ Proof of Stake (PoS) ซึ่งการกระจายอำนาจแบบนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความโปร่งใส เพราะไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยอำนาจขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง

จากนั้นธุรกรรมจะถูกบันทึกไว้ในบล็อคเชน ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ เนื่องมาจากฟีเจอร์ของเทคโนโลยีการเข้ารหัส ประกอบกับการทำงานแบบกระจายอำนาจของบล็อคเชน

กลไกฉันทามติ (PoS) และการขุดเหรียญ (PoW)

กลไกฉันทามติและการขุดเหรียญ เป็นกลไกที่ช่วยให้ระบบทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

โดยจะช่วยยืนยันธุรกรรมและช่วยเรื่องการดำเนินการบนบล็อคเชนของคริปโต

กลไลฉันทามติ หรือ Proof of Stake (PoS) ทำหน้าที่เป็นเหมือนกุญแจสำคัญของการยืนยันธุรกรรมและการดำเนินการในบล็อคเชน โดยหลักการคือ ผู้ถือคริปโตที่ต้องการทำธุรกรรม จะต้องมีจำนวนคริปโตนั้น ๆ เพียงพอ จึงจะได้รับสิทธิ์ในการยืนยันบล็อคใหม่ ยิ่งมีมาก ก็ยิ่งมีโอกาสยืนยันบล็อคใหม่ (forge block) มาก ซึ่งเราเรียกจำนวนคริปโตที่มีในกระเป๋านี้ว่า ‘stake’

กระบวนการ PoS นี้ ต่างกับ PoW ตรงที่ PoS ไม่ต้องใช้พลังงานในการขุดเหรียญมาก ซึ่งเป็นการลดพลังงานและความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา โดยผู้ถือคริปโตที่มี stake มากที่สุดจะได้รับสิทธิ์ในการยืนยันบล็อคหรือธุรกรรมนั้น ๆ พร้อมทั้งได้รับรางวัลตอบแทนในรูปของค่าธรรมเนียมธุรกรรมหรือเหรียญคริปโต

การขุดเหรียญ (Mining) หรือ Proof of Work (PoW)

การขุดเหรียญเป็นกลไกที่ใช้ใน PoW โดยผู้ที่ต้องการทำธุรกรรมจะต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของตัวเอง ในการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนและเข้าถึงบล็อคใหม่ หรือที่เรียกกันว่า ‘การขุด’ ผู้ที่มีอุปกรณ์พร้อมและสามารถขุดได้เป็นคนแรก จะได้รับสิทธิ์ในการยืนยันบล็อคหรือธุรกรรม พร้อมทั้งรางวัลตอบแทนเป็นเหรียญคริปโตที่กำหนด

ธุรกรรมแบบ Peer-toPeer

การทำธุรกรรมแบบ Peer-to-Peer (P2P) เป็นการทำธุรกรรมโดยตรง ระหว่างผู้ใช้ทั้งสองที่เชื่อมต่ออยู่ในเครือข่าย เป็นการดำเนินการแบบที่ไม่ผ่านตัวกลาง ไม่ต้องรอการอนุมัติจากหน่วยงานจำพวกธนาคารหรือรัฐบาล หรือผู้รับชำระเงินอื่น ๆ แต่จะมีโหนดหรือเครือข่ายของผู้ขุดทำหน้าที่ควบคุมแทน ดังนั้นจึงช่วยประหยัดเวลาและตัดค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้ตัวกลางออกไป

สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และการเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi)

สมาร์ทคอนแทรก เป็นสัญญาที่ถูกลงโปรแกรมไว้บนเครือข่ายบล็อคเชน และทำงานตามเงื่อนไขโดยอัตโนมัติ

การทำงานของสัญญาอัจฉริยะไม่ต้องอาศัยตัวกลาง จึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกให้การทำธุรกรรม ทั้งยังรองรับแอปพลิเคชันและโมเดลธุรกิจอื่น ๆ มากมาย ที่นอกเหนือจากการทำธุรกรรมแบบ P2P ในขณะเดียวกันก็ยังมีความปลอดภัยสูง จากการใช้ประโยชน์เครือข่ายกระจายอำนาจของบล็อคเชน

สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และการเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi)

การเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำ Smart Contract บนบล็อคเชนมาใช้ โดยผู้ใช้งานสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินของตัวเองโดยตรง ไม่ต้องมีตัวกลาง มีความปลอดภัย เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่เขียนไว้บนบล็อคเชน จึงถูกตรวจสอบได้โดยสาธารณะ

นอกจากนี้ การพัฒนา DeFi เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงมีแนวคิดและโอกาสใหม่ ๆ ในการปรับปรุงพัฒนาธุรกรรมอยู่เสมอ

ยกตัวอย่าง การที่ DeFi นำ Smart Contract มาใช้ เช่น การทำสัญญาประกัน ที่ต้องอาศัยความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือขั้นสูง หรือเรื่องจิปาถะอย่างการซื้อขายไอเทมในเกม รวมไปถึงการกู้ยืมเงินโดยตรงจากผู้ใช้คนอื่นในเครือข่าย เป็นต้น

สกุลเงินดิจิทัลมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

หลังจากมีการเปิดตัวคริปโตเคอร์เรนซีตัวแรกอย่างบิทคอยน์ (Bitcoin) ในปีพ.ศ. 2552 ก็มี Altcoin (alternative coin) เกิดขึ้นมากมาย และแต่ละสกุลก็มีฟังก์ชัน ฟีเจอร์ กรณีการใช้งาน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในแบบที่แตกต่างกันไป จะขอยกตัวอย่างดังนี้

  • Currency Coins: คริปโตที่ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นเงินดิจิทัลสำหรับธุรกรรมต่าง ๆ เช่น Bitcoin (BTC) และ Litecoin (LTC)
  • Utility Tokens: โทเค็นที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการบางอย่างในระบบนิเวศบล็อคเชน เช่น Binance Coin (BNB) ที่ช่วยลดค่าธรรมเนียมการเทรดในกระดานแลกเปลี่ยน Binance หรือ Chainlink (LINK) ที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาร์ทคอนแทรกกับภายนอก
  • Privacy Coins: คริปโตสำหรับความเป็นส่วนตัวและฟีเจอร์ที่ไม่เปิดเผยตัวตนโดยเฉพาะ เช่น Dash (DASH), Monero (XMR), Zcash (ZEC)
  • Security Tokens: โทเค็นสำหรับความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในโลกความจริง โดยเปิดซื้อขายบนแพลตฟอร์มบล็อคเชนซึ่งมาพร้อมข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เช่น หุ้นหรือหนี้ในอสังหาริมทรัพย์
  • Stablecoins: เหรียญที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดคริปโต จึงมีความเสถียรของราคาเป็นพิเศษ เช่น เงินสกุลท้องถิ่นหรือเงินเฟียต หรือสินค้าโภคภัณฑ์
  • NFTs หรือ Non-Fungible Tokens: โทเค็นที่แสดงความเป็นเจ้าของ ไม่สามารถทดแทนได้ ไม่สามารถทำซ้ำได้ ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะ มีม ผลงานเพลง ตั๋วดิจิทัลสำหรับเข้างาน เป็นต้น
  • DEX Tokens: โทเค็นใน DEXs ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเทรดระหว่างผู้ใช้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง เช่น Balancer (BAL), UniSwap (UNI), SushiSwap (SUSHI), Bancor (BNT), PancakeSwap (CAKE)
  • CBDC: เหรียญคริปโตที่เป็นเวอร์ชันดิจิทัลของเงินเฟียต รัฐบาลหรือธนาคารกลางเป็นผู้ออกและสนับสนุน เช่น เงินหยวนดิจิทัล ที่เริ่มใช้จริงในประเทศจีน หรือ ยูโรดิจิทัล ในยุโรป
  • Cross-Chain Tokens: โทเค็นที่ช่วยเรื่องการทำงานข้ามเครือข่ายบล็อคเชน ทำให้การโอนหรือแลกเปลี่ยนเป็นแบบไร้พรมแดน เช่น Avalanche (AVAX), Cosmos (ATOM) หรือ Polkadot (DOT)

ข้อดีและข้อเสียของ Cryptocurrency

ข้อดี

  • การกระจายอำนาจ
  • ความปลอดภัย
  • ความโปร่งใส
  • ความเป็นส่วนตัวจากการปกปิดตัวตน
  • การเป็นเจ้าของสินทรัพย์อย่างแท้จริงและการบริหารจัดการเองอย่างอิสระ
  • ธุรกรรมไร้พรมแดน
  • การเข้าถึงได้จากทั่วโลกและตลด 24 ชั่วโมง
  • รวดเร็วและค่าธรรมเนียมถูก
  • เป็นนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาตลอดเวลา
  • การเลือกกระจายความเสี่ยงได้และตัวเลือกที่หลากหลาย

ข้อเสีย

  • ความผันผวนของตลาด
  • ความเสี่ยงจากโจรกรรมไซเบอร์และการฉ้อโกงที่อาจไม่สามารถกู้คืนสินทรัพย์ได้
  • ไม่มีการคุ้มครองนักลงทุน
  • ใช้พลังงานโหนดสูง โดยเฉพาะกับระบบ PoW
  • ความซับซ้อนทางเทคโนโลยีและการใส่รหัส
  • ธุรกรรมไม่สามารถย้อนกลับได้
  • ความไม่แน่นอนของข้อบังคับทางกฎหมายที่อาจเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็ได้

แนวโน้มในอนาคตของ Cryptocurrency

Cryptocurrency มีแนวโน้มจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ถูกนำมาใช้มากขึ้นและกว้างขวางขึ้นในชีวิตประจำวัน รัฐบาลต่าง ๆ อาจจะออกคริปโตเคอร์เรนซีของตัวเอง และอาจมีการควบคุมทางกฎหมายสำหรับคริปโตบางสกุล

รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ประสิทธิภาพของบล็อคเชนเพิ่มขึ้น การทำงานข้ามบล็อคเชนจะแพร่หลายขึ้น ทั้งยังมีผลต่อภาคเศรษฐกิจ เพราะมูลค่าของคริปโตไม่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ

แนวโน้มในอนาคตของ Cryptocurrency

และการได้รับการยอมรับจากสถาบันต่าง ๆ มากขึ้นนี้ ทำให้ตลาดคริปโตขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราได้เห็นแล้วจากสกุลเงินดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้ คริปโตตัวไหนจะอยู่ได้นานหรือจะตายไปตามกาลเวลา ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเหรียญนั้น ๆ และการสนับสนุนจากชุมชน

บทสรุป

คริปโตเคอร์เรนซี หรือ cryptocurrency เป็นสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นวิวัฒนาการด้านการเงินที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้ธุรกรรมเป็นไปอย่างนิรนาม ไร้พรมแดน และปราศจากการควบคุมจากหน่วยงานใด ๆ มอบอิสระในการบริหารจัดการทรัพย์สิน สร้างโอกาสทำกำไรมหาศาล แต่ก็มาพร้อมความผันผวนที่ยากจะคาดเดาและโจรกรรมไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถทำให้คุณหมดตัวได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรศึกษาอย่างละเอียดก่อนการลงทุน และติดตามข่าวสารตลาดคริปโตอยู่เสมอ